งานบริการการศึกษาและกิจการนักศึกษา
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้
กิจกรรมเสวนาวิชาการ : การเสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้และทัศนคติด้านวิชาชีพของนักผังเมือง
        เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรการวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาวิชาการวางผังเมืองและสภาพแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม ได้จัด “โครงการเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้นักศึกษาหลักสูตรการวางผังเมืองและสภาพแวดล้อม : กิจกรรมที่ 1 การเสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้และทัศนคติด้านวิชาชีพของบัณฑิตศึกษา” ให้กับนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาการวางผังเมืองและสภาพแวดล้อม ณ ห้องประชุม 202 ชั้น 2 อาคารเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และผ่านระบบออนไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้และทัศนคติด้านวิชาชีพของนักผังเมืองให้กับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งกิจกรรมจัดในรูปแบบการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักศึกษา คณาจารย์ และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านวิชาชีพผังเมือง โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิทยา ดวงธิมา เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ        ในการนี้ได้รับเกียรติจาก คุณจันทิรา เกื้อด้วง นักผังเมืองชำนาญการพิเศษ จากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่, คุณปิยวรรณ ชูนวล นักผังเมืองชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการผังเมือง จากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา และคุณเสกสรร วรรณแก้ว นักผังเมืองปฏิบัติการ จากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพิจิตร ร่วมเป็นวิทยากรเสวนาในหัวข้อ “การเสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้และทัศนคติด้านวิชาชีพของนักผังเมือง” ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.โชคอนันต์ วาณิชย์เลิศธนาสาร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมดังกล่าว
25 สิงหาคม 2565     |      633
กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565
         เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 อาจารย์ ดร.ทำเนียบ อุฬารกุล รองคณบดีฝ่ายวิชาการและบริการวิชาการ พร้อมด้วย นายธวัชชัย มานิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณบดี เป็นตัวแทนของบุคลากรคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 โดยได้ร่วมกิจกรรมปลูกป่าจิตอาสา เวลา 08.30 น. ณ โครงการพัฒนาบ้านโปงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ค่ายแทนคุณ) ซึ่งจัดขึ้นโดย กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยแม่โจ้        กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอบรม โครงการสานต่องานที่พ่อทำมุ่งสู่ป่าต้นแบบ ในโครงการพัฒนาบ้านโปง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หลักสูตร "ศาสตร์พระราชา ปกปักรักษาผืนป่ายั่งยืน" และได้ร่วมปลูกต้นไม้ ณ บริเวณ โครงการพัฒนาบ้านโปง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ค่ายแทนคุณ)
11 สิงหาคม 2565     |      491
โครงการค่ายอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ ม.แม่โจ้ ประจำปีการศึกษา 2564-2565
      คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม ได้จัดโครงการค่ายอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม ประจำปีการศึกษา 2564-2565 ระหว่างวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2565 ณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้นักศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์นอกห้องเรียน ทางด้านทักษะในการดำเนินชีวิต ทักษะทางสังคม รวมถึงการเสริมสร้างปัญญา คุณธรรม จริยธรรม ความเป็นผู้นำ และปลูกฝังความตระหนักรู้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยการนำความรู้ทางด้านวิชาการและวิชาชีพมาประยุกต์ใช้ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติและการพัฒนาสังคม ชุมชน ให้ได้รับประโยชน์สุขอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาให้นักศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เก่ง ดี และมีความสุข มีพัฒนาการทางด้านวิชาชีพ ความใฝ่รู้ ความคิดสร้างสรรค์ และจิตสาธารณะต่อสังคม       ซึ่งในปีนี้ ทางคณะได้รับเกียรติจาก วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญทางด้านสาขาวิชาชีพ จากทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย มาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่นักศึกษา ในกิจกรรมสัมมนาเชิงวิชาการและกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ "สถาปัตย์รักษ์สิ่งแวดล้อม" ได้แก่       1. คุณอรช บุญหลง อาจารย์พิเศษและผู้ประสานงานด้านนวัตกรรมล้านนาสร้างสรรค์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บรรยายในหัวข้อ "เส้นทางการทำงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม"       2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ บรรยายในหัวข้อ "Hand care for trees ต่อยอดสู่ธุรกิจและความยั่งยืน" และ "หมอต้นไม้" พร้อมด้วยทีมงานจาก Happy Tree ที่มาสาธิตการปีนต้นไม้ใหญ่ให้กับนักศึกษาในฐานการเรียนรู้ "ไปส่องต้นไม้"       3. คุณบุญรักษ์ ธนเจริญโรจน์ ศิษย์เก่าสาขาวิชาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ ประธานกรรมการบริษัท ช้างทอง แลนด์สเคป จำกัด ผู้ได้รับปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สาขาวิชาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ บรรยายในหัวข้อ "ทิศทางการใช้วัสดุและพืชพรรณงานภูมิทัศน์อย่างยั่งยืน"       4. คุณเพชรประกายแก้ว ดวงหฤทัยทิพย์ ผู้อำนวยการกองบริหารงานสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมด้วยทีมงาน Green Library ร่วมบรรยายให้ความรู้และจัดกิจกรรม Workshop "การคัดแยกขยะ" ให้กับนักศึกษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Green Office และ Green University       นอกจากนี้แล้ว ยังได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากผู้ประกอบการภายนอก ที่เป็นหน่วยงานเครือข่ายทางด้านวิชาชีพของคณะ เพื่อให้การจัดกิจกรรมบรรลุตามวัตถุประสงค์ อาทิเช่น บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท ฟอร์ไมก้า (ประเทศไทย) จํากัด, บริษัท TDesign & Decor, บริษัท Saturn V Studio, กลุ่ม G7, บริษัท บีเคอินเตอร์ จำกัด (Onduline), บริษัทบุญถาวร สาขาเชียงใหม่ และคุณวิชชานนท์ เกษตร ศิษย์เก่าสาขาวิชาสถาปัตยกรรม เป็นต้น
24 กรกฎาคม 2565     |      783
โครงการปรับปรุงและพัฒนาสิ่งแวดล้อม : กิจกรรม Big Cleaning Day “5 ส”
      ด้วยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงและพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการสนับสนุนด้านการเรียนการสอน เสริมสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานของบุคลากร และสร้างความประทับใจต่อผู้มาเยือน โดยเน้นความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Ecology University) เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) และสำนักงานสีเขียว (Green Office) โดยได้กำหนดจัดกิจกรรม Big Cleaning Day “5 ส” ในวันที่ 24 มิถุนายน 2565 เพื่อขับเคลื่อนการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว ซึ่งกิจกรรม Big Cleaning Day “5 ส” ได้นำเอารูปแบบของกิจกรรม 5ส ซึ่งเป็นกระบวนการที่เป็นระบบ อันประกอบด้วย 1) สะสาง การแยกสิ่งของระหว่างของที่จำเป็นต้องใช้ 2) สะดวก การจัดวางหรือจัดเก็บสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้ 3) สะอาด การปัดกวาดเช็ดถู สถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ให้สะอาดอยู่เสมอ 4) สุขลักษณะ การรักษาและปฏิบัติ 3ส ได้แก่..สะสาง..สะดวก..สะอาด..ให้ดีตลอดไป 5) สร้างนิสัย การสร้างนิสัยในการมีจิตสำนึกทัศนคติที่ดี ในการปฏิบัติงานตามระเบียบข้อบังคับ      โดยมีแนวปฏิบัติที่เหมาะสมสามารถนำมาใช้เพื่อปรับปรุงแก้ไขงานและรักษาสิ่งแวดล้อมในสถานที่ทำงานให้ดีขึ้น ทั้งในส่วนงานด้านการผลิต และด้านการบริการ ซึ่งนำมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรได้อีกทางหนึ่ง ตลอดจนการดูแลสภาพแวดล้อม ให้มีความเหมาะสมต่อการทำงาน เอื้อต่อการเรียนรู้ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่คณะและมหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนา Green University, Eco. University ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ 2. เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่องค์กร เสริมสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการทำงานและเอื้อต่อการเรียนรู้ 3. เพื่อเป็นการปลูกฝังและสร้างจิตสำนึก ลักษณะนิสัยที่ดี มีวินัย ในการรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการทำงานร่วมกันเป็นทีม ให้กับบุคลากร
24 มิถุนายน 2565     |      277
วิทยาลัยพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย ส่งมอบและติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ PM 2.5 (adiDUST) ให้กับคณะสถาปัตย์ฯ ม.แม่โจ้
      เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 อาจารย์ ดร.ชยานนท์ สวัสดีนฤนาท อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายโชคชัย คงอุดมทรัพย์ นักวิชาการศึกษา และนายอานนท์ ผัดแปง เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป เข้าดำเนินการติดตั้งและถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศ PM 2.5 (adiDUST) ให้กับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทั้งนี้มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พันธุ์ระวี กองบุญเทียม ผู้ช่วยคณบดีคณะสถาปัตย์ฯ แม่โจ้ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วุฒิกานต์ ปุระพรหม หัวหน้าศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนทางสถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ให้การต้อนรับและนำคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เข้าเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนทางสถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อม Research and Innovation Center for Sustainability of Architecture and Environment (RIS-AE) พร้อมทั้งร่วมหารือแนวทางการบูรณาการข้อมูลคุณภาพอากาศจาก adiDUST เพื่อต่อยอดโครงการวิจัยและโครงการบริการวิชาการร่วมกัน
24 มิถุนายน 2565     |      489
โครงการอบรมสัมมนา “สุขภาวะแวดล้อมเพื่อการออกกำลังกายแฝง สำหรับคนทุกวัย”
              เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนทางสถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อม (RIS-AE) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับ ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (Universal Design Center : UDC) ได้จัดโครงการอบรมสัมมนา เรื่อง “สุขภาวะแวดล้อมเพื่อการออกกำลังกายแฝง สำหรับคนทุกวัย” เพื่อเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการดำรงชีวิตภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยหลังวัยเกษียณ เสนอแนะแนวทางการปรับปรุงอาคาร ในการรองรับพฤติกรรมผู้สูงวัย ตลอดจนสร้างพฤติกรรมที่ดีจากการออกกำลังกายแฝง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน ให้กับกลุ่มผู้สูงวัยในพื้นที่ชุมชนต้นแหนหลวง – ต้นแหนน้อย ต.ท่าวังพร้าว อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ และบริเวณใกล้เคียง โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ช่อเพชร พานระลึก จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษหัวข้อ “นวัตกรรมอาคารบ้านเรือน เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้สูงวัย”, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัมเรศ เทพมา จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษหัวข้อ “การดำรงชีวิตในชุมชนอนุรักษ์ หลังวัยเกษียณ” และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วุฒิกานต์ ปุระพรหม จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษหัวข้อ “พฤติกรรมการออกกำลังกายแฝง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน” และได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.โชคอนันต์ วาณิชย์เลิศธนาสาร เป็นประธานในพิธีเปิด ณ ข่วงจันทร์เฮอร์ริเทจแอนด์บูติค รีสอร์ท และชุมชนอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่น บ้านต้นแหนน้อย อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ การจัดงานในครั้งนี้ ได้ดำเนินกิจกรรมตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด
15 ตุลาคม 2564     |      249
กิจกรรมการศึกษาดูงาน ณ สวนแม่วางการ์เด้น
             เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ ได้จัด “โครงการศึกษาดูงานวิชาชีพภูมิทัศน์ด้านกระบวนการผลิตและดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่เพื่อพัฒนานักศึกษาและอาจารย์ให้เป็นมืออาชีพ ณ สวนแม่วางการ์เด้น อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่” โดยการนำนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ เดินทางไปศึกษาดูงานนอกสถานที่เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์นอกห้องเรียนให้แก่นักศึกษา ซึ่งเป็นการบูรณาการกับรายวิชา ภท 444 การดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่, ภท 332 การออกแบบภูมิทัศน์ 2, ภท 252 วัสดุพืชพรรณสำหรับงานภูมิทัศน์ 1 และ ภท 253 วัสดุพืชพรรณสำหรับงานภูมิทัศน์ 2 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัยเป็น อาจารย์ผู้ควบคุมดูแลกิจกรรมการศึกษาดูงานในครั้งนี้
14 ตุลาคม 2564     |      474
เข้าร่วมกิจกรรม MJU Car Free Day 2021
           เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ตัวแทนบุคลากรคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ นำโดย อ.ดร.โชคอนันต์ วาณิชย์เลิศธนาสาร คณบดี พร้อมด้วย นายธวัชชัย มานิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณบดี, นายสุรพล บุญยืน, นายวรเชษฐ์ กาญจนวิศาล และนางสาลินี ไพรัช เข้าร่วมกิจกรรม MJU Car Free Day 2021 ณ บริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม สำนักงานมหาวิทยาลัย จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ทุกส่วนงานได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว ตลอดจนเพื่อรณรงค์ลดการใช้ยานพาหนะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงภายในมหาวิทยาลัย ลดโลกร้อน ลดปัญหามลพิษทางอากาศและเสียง และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการลดปริมาณรถยนต์ในท้องถนน ลดปัญหาการจราจรภายในมหาวิทยาลัย
24 กันยายน 2564     |      540
กิจกรรม Big Cleaning Day ณ พื้นที่ 27 ไร่ ฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้
     เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม ได้จัดโครงการ ปรับปรุงและพัฒนากายภาพของคณะให้สอดคล้องกับนโยบาย Green University ครั้งที่ 2 กิจกรรม Big Cleaning Day ณ พื้นที่ 27 ไร่ ฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สืบเนื่องจากยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) ได้มีการขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมโครงการต่างๆ ที่สนับสนุนให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวในทุกมิติ คณะสถาปัตยกรรมศาสต จึงมีความประสงค์ปรับปรุงและพัฒนาสภาพแวดล้อมให้มีความเป็นสีเขียว สนับสนุนการเรียนการสอน สร้างบรรยากาศที่ดีของสถานศึกษา และตอบสนองต่อการพัฒนาคณะที่เน้นความเป็นนิเวศ (Ecology) ซึ่งเป็นจุดต่างกับมหาวิทยาลัยอื่นที่สอนทางด้านสถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อม      โครงการดังกล่าวเป็นการปรับปรุงพัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยนักศึกษาและบุคลากรมีส่วนร่วม เป็นกิจกรรมที่สร้างจิตสำนึกรักษ์สถานศึกษาให้กับนักศึกษาและบุคลากร สร้างบรรยากาศภายในคณะให้เหมาะสมและเอื้อต่อการเรียนรู้ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับคณะและมหาวิทยาลัย บริเวณพื้นที่ 27 ไร่ ฟาร์มมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดความสะอาด มีภูมิทัศน์ทัศนียภาพที่ดี มีความสะดวกและปลอดภัยในการใช้งานบริเวณพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมของคณะและมหาวิทยาลัย และเอื้อต่อการเรียนการรู้นักศึกษา ซึ่งเป็นพื้นที่ฐานของนโยบาย Green University
26 สิงหาคม 2564     |      265
ทั้งหมด 1 หน้า